ข่าวสารทั่วไป


Intel เปิดตัวซีพียู คอร์ เจนเนอร์เรชัน 10 (Ice Lake) สำหรับโน้ตบุ๊ก เทคโนโลยี 10nm

 

 

 

หลังจากเป็นข่าวมานานพอสมควร ตอนนี้อินเทลก็ได้เปิดตัวซีพียู คอร์ เจนเนอร์เรชัน 10 สำหรับโน้ตบุ๊กและแพลตฟอร์มประหยัดพลังงาน อย่างเป็นทางการแล้ว และซีพียูทั้งหมดนี้ก็จะผลิตด้วยเทคโนโลยี 10 นาโนเมตร ที่ทุกคนเผ้ารอโดยซีพียูเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ในโน้ตบุ๊กกลุ่ม Thin & Light และโน้ตบุ๊กในแบบ 2-in-1 และรวมไปถึงแพลตฟอร์มประหยัดพลังงานอย่าง Intel NUC อีกด้วย

 

 

 

 

ซีพียูที่เปิดตัวมาในครั้งนี้มีด้วยกันทั้งหมด 11 รุ่น แบ่งเป็น U-Series 6 รุ่น ที่มีค่า TPD อยู่ราว 15-25W ที่เน้นประสิทธิภาพในการทำงาน และ Y-Series อีก 5 รุ่น ที่มีค่า TDP ราว 9-12W ซึ่งจะเน้นการประหยัดพลังงานมากเป็นพิเศษ รุ่นเล็กสุดจะเป็นซีพียูในกลุ่ม Core i3 ที่เป็นซีพียูแบบ 2 คอร์ 4 เธรด ส่วนรุ่นที่เป็น Core i5 และ i7 จะมีจำนวนคอร์และเธรดที่เท่ากันคือ 4 คอร์ 8 เธรด แต่ประสิทธิภาพจะต่างกันด้วยจำนวนของหน่วยความจำแคชที่ Core i7 มีมากกว่า และมีความเร็วของ Base/Boost Clock ที่สูงกว่า

 

 

 

 

จุดเด่นประการสำคัญของซีพียู คอร์ เจนเนอร์เรชัน 10 สำหรับโน้ตบุ๊กนี้ก็คือมีฮาร์ดแวร์สำหรับเร่งการประมวลผลทางด้าน AI และ Deep Learning โดยเฉพาะ นอกจากนี้แล้วก็ยังมีรองรับการเชื่อมต่อแบบใหม่ที่ทันสมัยและมีความเร็วสูงไม่ว่าจะเป็น Wi-Fi 6 (Gig+) และ Thunderbolt 3

 

 

 

 

อีกหนึ่งจุดเด่นที่ได้รับการพัฒนามาค่อนข้างมากก็คือส่วนของกราฟิกที่ใช้สถาปัตยกรรม Gen11 ที่มีความก้าวหน้าอย่างมากเมื่อเทียบกับกราฟิกที่อยู่ในซีพียู คอร์ เจนเนอร์เรชันที่ 9 ที่ใช้เพียง Gen9.x เท่านั้น และเป็นสถาปัตยกรรมเก่าที่อยู่มาตั้งแต่สมัยซีพียู คอร์ เจนเนอร์เรชัน 6 ซึ่งถือว่ายาวนานมาก

กราฟิก Gen11 ที่มาพร้อมกับ คอร์ เจนเนอร์เรชัน 10 นี้ก็จะแบ่งออกเป็นสองระดับใหญ่ ๆ คือรุ่นที่มีประสิทธิภาพสูงจะใช้ชื่อว่า Intel Iris Plus ที่มีจะมีจำหน่วย EU (Execution Unit หรือคอร์กราฟิก) ตั้งแต่ 48 EU ไปจนถึง 64 EU ส่วนรุ่นมาตรฐานยังคงใช้ชื่อ Intel UHD Graphics และจำนวน 32 EU ดูแล้วอาจจะน้อยแต่ถ้าเทียบกับ Gen9.x เดิมก็ยังคือว่าสูงกว่าและรองรับเทคโนโลยีที่ใหม่กว่าอีกหลายอย่างด้วย ไม่ว่าจะเป็นส่วนของการเข้ารหัสถอดรหัสวิดีโอแบบใหม่ที่ทำงานร่วมกับวิดีโอในระดับ 8K ได้ รองรับจอภาพแบบ Adaptive Sync (แบบเดียวกับ FreeSync) และยังสามารถทำงานร่วมกับส่วนประมวลผลด้าน AI ได้อีกด้วย ถือว่าล้ำหน้าสุด ๆ

การเรียกชื่อรุ่นของซีพียู คอร์ เจนเนอร์เรชัน 10 นี้ อินเทลพยายามย่อให้สั้นที่สุด ด้วยการกลับมาใช้เลขรุ่นแบบ 4 หลักเท่าเดิม แต่มีการเพิ่มรหัสท้ายอีก 2 หลัก เพื่อระบุถึงประสิทธิภาพของกราฟิกที่ใช้ เช่น Core i7-1068G7 โดยตัวเลข “10” หมายถึงซีพียูเจนเนอร์เรชัน 10 และ “68” เลขรุ่นของซีพียูในกลุ่มนั้น ส่วน “G7” หมายถึงรุ่นกราฟิก โดยจะแบ่งออกเป็นสามรุ่นเพื่อระบุจำนวน EU ที่ใช้ คือ G7 มีจำนวน 64 EU, G4 มีจำนวน 48 EU และ G1 มีจำนวน 32 EU

 

 

 


ส่วนซีพียูสำหรับเดสก์ท็อปที่เป็น คอร์ เจนเนอร์เรชัน 10 เราคงต้องรอไปถึงช่วงต้นปี 2020 แต่อาจจะได้เห็นข้อมูลหรือรายละเอียดอื่น ๆ ในช่วงปลายปีนี้ครับ