ข่าวสารทั่วไป



JIB News สรุปข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 38/2562

 

 

 

 

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเอเอ็มดีกลับมาจับจองพื้นที่ข่าวไปอย่างมากมายตั้งแต่การปรากฏตัวของ Ryzen 5 3500X และ Ryzen 5 3500 ที่เป็นซีพียูแบบ 6 คอร์ 6 เธรด ที่จะมาชนกับ Core i5-9400F รวมไปถึงการประกาศวางจำหน่าย Threadripper เจนฯ 3 และ ซีพียู Ryzen 9 3950X ที่หลายคนรอคอย และปิดท้ายด้วยข่าวการ์ดจอรุ่นเล็ก NAVI 12 และ 14 ที่คาดว่าจะเป็น RX 5600 กับ RX 5500 ซึ่งจะมาชนกับ GTX 1650 Ti ที่มีข่าวว่ากำลังจะเปิดตัวในเดือนตุลาคมนี้ ส่วนทางฝั่งอินเทลก็ไม่น้อยหน้ามีข้อมูลผลการทดสอบเกี่ยวกับซีพียู คอร์ เจนฯ 10 ออกมาไม่เว้นแต่ละวันเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้ลุ้นอะไรมากเพราะเราทราบชัดเจนแล้วว่ายังไงก็ต้องรอไปจนถึงปี 2020 และไม่น่าเชื่อว่าซีพียูอินเทล 14nm เริ่มขาดตลาดอีกครั้ง ส่วนรายละเอียดทั้งหมดจะเป็นอย่างไรมาติดตามกันเลยครับ

 

เอเอ็มดีประกาศวางจำหน่าย Threadripper เจนฯ 3 และ Ryzen 9 3950X ในเดือนพฤศจิกายน

 

 

 

ก่อนหน้านี้มีข่าวลือว่า Theradripper เจนฯ 3 จะวางจำหน่ายในเดือนตุลาคม ส่วน Ryzen 9 3950X ก็จะเริ่มขายกันตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน เป็นต้นไป แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเอเอ็มดีก็ออกมาประกาศผ่านทางโซเชียลมีเดียของตนว่าจะวางจำหน่าย Theradripper เจนฯ 3 และซีพียู Ryzen 9 3950X (16C/32T) ในเดือนพฤศจิยายน ก็เป็นการจบข่าวลือที่ผ่าน ๆ มาทั้งหมดครับ ส่วนสาเหตุในการเลื่อนเวลาการจำหน่ายออกไป ก็มีการวิเคราะห์กันเป็นสามประเด็นครับ ประเด็นแรกคือ TSMC มีปัญหาเรื่องกำลังการผลิตไม่เพียงพอ เพราะตอนนี้มีคนต้องการผลิตชิปด้วยเทคโนโลยี 7nm เป็นจำนวนมาก ซึ่งลูกค้าของ TSMC เองก็ไม่ได้มีเฉพาะเอเอ็มดีเท่านั้น แต่ยังมีเอ็นวิเดียที่เป็นคู่แข่งในส่วนของการ์ดจอด้วย ประเด็นที่สองคือต้องการโฟกัสไปที่การ์ดจอรุ่นเล็กอย่าง Radeon RX 5300 และ RX 5500 ที่จะออกมาชนกับ GTX 1650 Ti ของเอ็นวิเดียที่ลือว่าจะวางตลาดในช่วงปลายเดือนตุลาคม และประเด็นที่สามที่เพิ่งเกิดมาล่าสุดเลยก็คือ เอเอ็มดีไม่พึงพอใจกับคุณภาพของชิปที่ผลิตออกมาใน ชุดแรกเพราะไม่สามารถทำความเร็วได้ตามที่ต้องการ จึงต้องมีการปรับปรุงในขั้นตอนการผลิตใหม่อีกครั้งทำให้จำเป็นต้องเลื่อนการวางจำหน่าย Ryzen 9 3950X ออกไป 

 

ข้อมูลจาก HP ระบุเอเอ็มดีมีการ์ดจอ Radeon RX 5300 XT  และเมนบอร์ดชิปเซต B550

 

ในเว็บไซต์ของ HP ได้มีการเปิดเผยข้อมูลของเดสก์ท็อปพีซีรุ่นใหม่ในตระกูล Pavilion Desktop TP01 ซีรีส์ ซึ่งประเด็นและความน่าสนใจอยู่ตรงที่ช่องแสดงข้อมูลของกราฟิกได้ระบุว่าเป็น Radeon RX 5300XT ที่มีหน่วยความจำแบบ GDDR5 ขนาด 4GB ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีข่าวลือออกมาว่าเอเอ็มดีมีกราฟิกชิปในรหัส NAVI 12 และ NAVI 14 ที่กำลังจะเปิดตัวในเร็ว ๆ นี้ แต่ไม่ได้มีการระบุว่าสุดท้ายแล้วกราฟชิปทั้งสองรุ่นจะมาอยู่ในการ์ดจอรุ่นใด นอกจากนี้แล้วในข้อมูลของ HP ยังระบุอีกว่าเมนบอร์ดที่ใช้เป็นชิปเซต B550 ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าชิปเซต B550 นี้จะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในราว ๆ กลางปี 2020 แต่ก็พอเข้าใจได้ว่านี่เป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม OEM ดังนั้นก็อาจจะมี Roadmap ที่แตกต่างไปจากผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ใช้ทั่วไปก็เป็นได้  


พบรายชื่อ Radeon RX 5500 ในเว็บไซต์ GFXBench.com

 

ใน GFXBench.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของผู้พัฒนาโปรแกรม GFXBench ที่ใช้ทดสอบประสิทธิภาพของกราฟิกชิปทั้งแพลตฟอร์มพีซี และสมาร์ทโฟน ได้มีข้อมูลการทดสอบกราฟิก RX 5500 ปรากฏขึ้นมาบ้างแล้วแต่น่าเสียดายที่ข้อมูลการทดสอบนั้นไม่สามารถนำมาเทียบเคียงกับกราฟิกรุ่นใดได้เลยทั้งกับเอเอ็มดีเองและทางอินเทล นอกจากนี้ในฐานข้อมูลยังรายงานว่า RX 5500 นี้ยังคงใช้สถาปัตยกรรม GCN ที่ทำให้หลายคนมองว่าเป็น RX 500 ซีรีส์ เปลี่ยนชื่อรุ่นมาหรือเปล่า แต่เราคิดว่าคงไม่ใช่เพราะเอเอ็มดีมี RX 600 ซีรีส์สำหรับตลาด OEM มาก่อนหน้านี้แล้ว และการแสดงข้อมูลว่า GCN นั้นไม่ได้หมายความว่ากราฟิกจะใช้สถาปัตยกรรม GCN แต่อาจจะหมายถึงการใช้ชุดคำสั่งที่เข้ากันกับ GCN ก็เป็นได้ เพราะในไดรเวอร์ของ Radeon RX 5700 ซีรีส์ที่ใช้สถาปัตยกรรม NAVI เองก็ยังมีบางส่วนที่ระบุว่าเป็น GCN แต่เป็นในด้านของการใช้ชุดคำสั่งไม่ใช่เรื่องของสถาปัตยกรรมครับ งานนี้ก็ยังสรุปอะไรไม่ได้มากครับได้แต่ติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

 

ข้อมูลเผย ซีพียู Core i9-9900KS ที่สามารถบูสได้ถึง 5GHz ทุกคอร์ จะมีค่า TDP เริ่มต้นที่ 127 วัตต์

 

เว็บไซต์ TechpowerUp ได้รายงานว่ามีข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงค่า TDP ของ Core i9-9900KS ว่าอาจจะสูงถึง 127 วัตต์ ในขณะที่ Core i9-9900K และ i9-9900KF นั้นมี TDP เพียง 95 วัตต์ เท่านั้น ทั้งนี้ก็น่าจะเป็นเพราะว่า Base clock ของ Core i9-9900KS เองนั้นก็มีความเร็วที่สูงในระดับ 4.0GHz นั่นเอง ในขณะที่ซีพียู Core i9 สองรุ่นที่กล่าวไปมีความเร็ว Base clock ที่ 3.6GHz เท่านั้น และค่า TDP 127 วัตต์ นี้เป็นค่าที่วัดจาก Base clock ดังนั้นเมื่อซีพียูทำการบูสไปถึง 5.0GHz ได้ในแบบทุกคอร์ก็น่าจะมีค่า TDP เพิ่มขึ้นมาอีกพอตัว เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วผู้ที่วางแผนจะใช้งาน Core i9-9900KS ก็ต้องวางแผนสำหรับเลือกใช้ชุดระบายความร้อนด้วยนะครับ ส่วนเมนบอร์ดที่รองรับ Core i9-9900KS นี้ก็ยังคงเป็นชิปเซต Z390 บนซ็อกเก็ต LGA 1151 เช่นเดิม ส่วนแพลตฟอร์มใหม่ ซีพียูใหม่ คอร์ เจนฯ 10 สำหรับเดสก์ท็อป จะมาพร้อมซ็อกเก็ตใหม่ LGA 1200 และชิปเซตใหม่ 400 ซีรีส์ ในปี 2020 ครับ

 

 

 

พบข้อมูล Cascade Lake X ซีพียู คอร์ เจนฯ 10 สำหรับตลาด HEDT ในฐานข้อมูล GeekBench

 

Cascade Lake X คือชื่อรหัสของซีพียู คอร์ เจนฯ 10 สำหรับตลาด HEDT (High End Desktop) ครับ ซึ่งตอนนี้ก็มีผลการทดสอบมาให้เห็นในฐานข้อมูลของ GeekBench กันมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว และตอนนี้ก็มีผู้ใช้ทวิตเตอร์ชื่อ @momomo_us ได้รวบรวมรายชื่อของ Cascade Lake X ไว้ดังนี้ครับ Core i9-10980XE (3.0GHz, 18C/36T), Core i9-10940XE (3.3GHz, 14C/28T), Core i9-10920X (3.5GHz, 12C/24T), Core i9-10900X (3.7GHz, 10C/20T) และที่น่าแปลกใจไปมากกว่านั้นก็คือเขาพบว่าอินเทลเตรียมที่จะมีเมนบอร์ดชิปเซต X399 เอาไว้ด้วย แต่ก็ยังไม่มีรายละเอียดใด ๆ ว่าเมนบอร์ดชิปเซต X399 ของอินเทลนี้จะใช้ซ็อกเก็ตใด เพราะตามข้อมูลที่เรามีอินเทลยังคงใช้เมนบอร์ดชิปเซต X299 และซ็อกเก็ต LGA 2066 ยาวไปจนถึงกลางปี 2020 หรือเป็นไปได้ว่าอินเทลจะเพิ่มชิปเซต X399 เข้ามาอีกโดยมีคุณสมบัติที่อัปเดตจาก X299 แต่ยังคงใช้ LGA 2066 เช่นเดิม ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องติดตามครับ

 

 

 

ซีพียู 14nm ของอินเทลกำลังขาดตลาดอีกครั้ง ส่วนปีหน้าเราจะได้เห็นซีพียูจากจีนออกสู่ตลาดมากขึ้น

 

Digitimes รายงานว่าซีพียู 14nm ของอินเทลกำลังจะขาดตลาดอีกครั้ง ซีพียูของอินเทลเริ่มมีปัญหาการขาดแคลนมาตั้งแต่กลางปี 2018 เป็นต้นมา และมีการคลื่คลายของสถานะการณ์กันเป็นระยะ ๆ ทำให้ผู้ผลิตพีซีทั้งหลายต้องวางแผนการสั่งซื้อซีพียูจากอินเทลอย่างรัดกุม และเพื่อความไม่ประมาทผู้ผลิตพีซีหลายรายจึงเริ่มทำตลาดพีซีที่ใช้ซีพียูของเอเอ็มดีเพิ่มขึ้นด้วย อย่างน้อยก็ให้มีสินค้าใหม่ ๆ วางตลาดได้และที่ผ่านมาซีพียูของเอเอ็มดีก็ได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถใช้งานได้ดีเช่นกัน อย่างไรก็ดีตอนนี้ผู้ผลิตพีซีกำลังเผชิญกับการขาดแคลนซีพียูจากอินเทลอีกครั้ง ทำให้ผู้ผลิตพีซีในจีนอย่างน้อยหนึ่งรายกำลังจะเปิดตัวเดสก์ท็อปพีซีที่ใช้ซีพียู ARM ลงในตลาดเดสก์ท็อปแทน (คาดว่าจะเป็นรุ่นสำหรับการใช้งานทั่วไป) และอาจจะมีผลทำให้ผู้ผลิตพีซีและโน้ตบุ๊กจำนวนมากอาจจะต้องเลื่อนการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ออกไป สุดท้าย Digitimes รายงานเพิ่มเติมว่าซีพียู x86 รุ่นใหม่ที่พัฒนาโดยบริษัทของจีนก็มีความพร้อมที่จะถูกจัดส่งออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมากได้ภายในปีหน้า ซึ่งสัญญาณเหล่านี้ก็เริ่มมีมาให้เห็นบ้างแล้ว เช่นตอนนี้ AIDA64 ซอฟต์แวร์ที่ใช้ตรวจสอบและทดสอบประสิทธิภาพของฮาร์ดแวร์ได้เพิ่มรายชื่อ Zhaoxin KaiXian KX-5000 และ KX-6000 ซึ่งเป็นซีพียูของจีนไว้เรียบร้อยแล้ว