ข่าวสารทั่วไป


JIB News สรุปข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 44/2562

 

 

 

 

พบซีพียู Athlon 3000G ในข้อมูลเมนบอร์ดของ GIGABYTE ที่ใช้ชิปเซต 300 และ 400 ซีรี่ส์3

 

 

 

ในขณะที่เรากำลังใจจดใจจ่อรอคอยกับการมาของซีพียู Theradripper เจนฯ 3 รวมไปถึงการวางจำหน่ายของซีพียู Ryzen 9 3950X 16 คอร์ 32 เธรด ของทางเอเอ็มดี ก็ปรากฏว่ามีการไปพบรายชื่อซีพียู AMD Athlon 3000G ที่เป็นซีพียูแบบ 2 คอร์ 4 เธรด อยู่ใน CPU Support List ของเมนบอร์ด GIGABYTE ที่ใช้ชิปเซต 300 และ 400 ซีรี่ส์ และทางทีมงานของ JIB News ก็ลองไปตรวจสอบแล้วก็พบว่ามีอยู่จริงในกลุ่มเมนบอร์ดดังกล่าว ส่วนเมนบอร์ดที่เป็นชิปเซต X570 ของ GIGABYTE ไม่ปรากฏชื่อของซีพียูรุ่นนี้ นอกจากเมนบอร์ดของ GIGABYTE แล้วเราก็ยังไปตรวจสอบเมนบอร์ดยี่ห้ออื่น ๆ ด้วยแต่ว่าไม่พบชื่อของ Athlon 3000G แต่อย่างใดครับ งานนี้ก็คงต้องรอลุ้นกันดูว่าจะมีซีพียูรุ่นนี้อยู่จริงหรือไม่

 

ผู้ผลิตการ์ดจอสั่งชิป RTX 2070 เพิ่มขึ้นหลังจากพบว่า RX 5700 ซีรี่ส์ ในตลาดเริ่มมีของน้อยลง และอาจจะผลิตเพิ่มไม่ทัน

 

 

 

Gamers Nexus รายงานว่าตอนนี้พาร์ทเนอร์ของเอ็นวิเดียในกลุ่มผู้ผลิตการ์ดจอกำลังสั่งชิป GeForce RTX 2070 เพิ่มขึ้นหลังจากพบว่าจำนวนของการ์ดจอ RX 5700 XT และ RX 5700 เริ่มจะมีน้อยลง และอาจจะประสบปัญหากับการขาดตลาดเพราะกำลังผลิตชิป 7nm จาก TSMC ไม่เพียงพอ โดยทางผู้ผลิตการ์ดจอก็ตั้งใจว่าจะใช้การ์ดจอ RTX 2070 เข้ามาชดเชยกับการขาดหายไปของ RX 5700 ซีรี่ส์ เพราะ RTX 2070 นั้นเป็นกราฟิกการ์ดที่มีราคาอยู่ในระดับเดียวกัน ข้อมูลรายงานว่าหาก RX 5700 ซีรีส์ขาดตลาดจริงก็คงต้องใช้เวลาอย่างน้อยไปจนถึงต้นปีหน้าจึงจะมีของกลับเข้ามาขายใหม่ เพราะตอนนี้เอเอ็มดีคงจะต้องไปโฟกัสกับ RX 5500 ซีรี่ส์ที่กำลังจะออกมาในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ก่อน

 

ซัมซุงปิดแผนกการออกแบบ CPU ของตัวเอง ปรับไปใช้ Arm แบบมาตรฐาน


ซัมซุงปิดแผนกการออกแบบ CPU ของตนเอง ถือว่าเป็นข่าวใหญ่สำหรับแวดวงของสมาร์ทโฟน เพราะแบรนด์ระดับผู้นำที่เรียกได้ว่ามี eco system ทางด้านฮาร์ดแวร์เป็นของตัวเองอย่างครบวงจรยังต้องถอดใจในการพัฒนาซีพียูสำหรับสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตในรุ่นต่อ ๆ ไป แม้จะปิดส่วนนี้ไปแต่นักวิเคราะห์มองว่าทางซัมซุงคงจะเตรียมแผนในการพัฒนาฮาร์ดแวร์ส่วนอื่น ๆ เพื่อเข้าไปเสริมกับสถาปัตยกรรมซีพียูหลักที่จะใช้จาก Arm โดยตรง เช่นงานประมวลผลด้าน AI และรวมไปถึงการร่วมมือกับเอเอ็มดีในการพัฒนากราฟิกให้มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้นอีกด้วย ก็รอดูต่อไปครับว่าสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตรุ่นถัดไปของซัมซุงจะใช้ฮาร์ดแวร์ที่มีความแตกต่างและพิเศษกว่าอย่างไรบ้าง

 

Arm กลับมาทำงานร่วมกับหัวเว่ยแล้ว

 

 

 

หลังจากมีปัญหากันมาพักใหญ่ ๆ ระหว่างอเมริกากับหัวเว่ยจนทำให้ภาคเอกชนต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินธุรกิจกับหัวเว่ย ล่าสุดทาง Arm ผู้พัฒนาสถาปัตยกรรมซีพียูสำหรับอุปกรณ์พกพาก็สามารถหาทางออกและกลับมาทำงานร่วมกับหัวเว่ยได้แล้ว ด้วยการบอกว่าบริษัทของตนเป็นบริษัทของอังกฤษ ไม่ใช่บริษัทของอเมริกา(แต่ทีแรกก็แบนหัวเว่ยตามอเมริกา) และความพยายามในครั้งนี้ก็มองออกเลยว่ามาจาก Arm ล้วน ๆ เนื่องจากระหว่างที่หัวเว่ยกำลังถูกแบนอยู่นั้นก็มีแผนที่จะไปพัฒนาซีพียูของตนโดยใช้สถาปัตยกรรม RISC-V ที่เป็นโอเพ่นซอร์ส และกำลังมาแรงมาก ๆ และมีหลายคนคาดด้วยว่า RISC-V นี่แหละที่จะมาโค่นสถาปัตยกรรมของ Arm ที่ครองตลาดส่วนใหญ่ได้ และถ้าขืน Arm ไม่ทำอะไรเลย และปล่อยให้หัวเว่ยไปทุ่มเทกับ RISC-V ก็จะทำให้สถาปัตยกรรมใหม่นี้แจ้งเกิดในวงการทันที เพราะเราก็ทราบกันดีว่าจำนวนของอุปกรณ์ที่ขายได้ของหัวเว่ยในแต่ละปีนั้นถือว่าสูงมาก ๆ ติดอันดับท็อปสามของโลกอย่างต่อเนื่องมาสองสามปีแล้ว

 

ไมโครซอฟท์ปรับโลโก้ Microsoft Edge พร้อมเปิดให้ดาวน์โหลด Beta รุ่นล่าสุด

 

 

 

เงียบหายไปนานสำหรับเว็บเบราว์เซอร์ใหม่ของไมโครซอฟท์ที่ใช้ Chromium มาต่อยอด ล่าสุดทางไมโครซอฟท์ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงโลโก้ของเว็บเบราว์เซอร์ Edge ให้ดูทันสมัยมากขึ้นโดยไม่ทิ้งร่องรอยของตัว “e” แบบเดิมที่ใช้มาตั้งแต่สมัย Intetnet Explorer เวอร์ชันแรกที่เปิดตัวมาในปี 1995 ถึงตอนนี้ก็ 24 ปี เข้าไปแล้ว นอกจากโลโก้ใหม่แล้วทางไมโครซอฟท์ก็ได้เปิดให้ดาวน์โหลด Edge (Beta) ตัวล่าสุดอีกด้วย และเราก็ได้ทดลองเล่นแล้วพบว่ามีความลื่นไหลขึ้นอย่างมากโหลดเว็บได้เร็วขึ้น และบักต่าง ๆ ที่เราเคยพบตอนนี้ก็ไม่มีให้เห็นแล้วคงจะได้รับการแก้ไขไปพอสมควรแล้วละครับ ใครที่สนใจและต้องการทดลองใช้งานเว็บเบราว์เซอร์ Edge ใหม่ที่ใช้เอนจิ้น Chromium ก็สามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://www.microsoftedgeinsider.com/en-us/

 

TSMC มุ่งหน้า 3nm ตามโรดแมพ

 

 

 

แม้ตอนนี้จะมีข่าวออกมาในทำนองว่า TSMC กำลังประสบกับปัญหาการผลิตชิป 7nm ได้ไม่ทันกับความต้องการของตลาด แต่ข่าวนี้ก็ไม่สามารถทีจะหยุดความก้าวหน้าในการพัฒนากระบวนการผลิตชิปของ TSMC ได้ หลังจากที่ประกาศความพร้อมในการผลิต 7nm+ และ 5nm ไปแล้ว ตอนนี้ TSMC ได้ประกาศความพร้อมในการพัฒนาและวิจัยเทคโนโลยีในการผลิตระดับ 3nm ซึ่งเป็นไปตามโรดแมพของบริษัท โดยโรงงานผลิตชิปด้วยเทคโนโลยี 3nm นี้เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2017 แล้ว และเสร็จสมบูรณ์ในราวเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งคาดว่าทาง TSMC ก็จะเริ่มทดสอบและสามารถเริ่มการผลิตได้ในปี 2020 แต่คาดว่ายังคงเป็นการผลิตในลักษณะของผลิตภัณฑ์ต้นแบบยังไม่ใช่การผลิตในลักษณะของ Mass Production