5 โปรแกรมฟรี ช่วยตรวจสอบความร้อนของฮาร์ดแวร์
ความร้อนเป็นปัญหาอย่างใหญ่หลวงสำหรับผู้ใช้พีซีและโน้ตบุ๊กครับ และอาการที่พบได้บ่อยที่สุดเมื่อคอมพิวเตอร์ทำงานในสภาวะความร้อนที่สูงก็คือ รีสตาร์ทเอง หรือดับไปเฉย ๆ เมื่อเปิดใช้งานต่อไม่นานก็กลับมารีสตาร์ทเองอีก แบบนี้ก็สงสัยไว้ก่อนได้เลยว่าน่าจะมากจากความร้อน และเราสามารถตรวจสอบความร้อนในการทำงานของอุปกรณ์ที่อยู่ภายในเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราได้ง่ายมากครับโดยใช้โปรแกรมเหล่านี้
และนี่คือ 5 โปรแกรมฟรีที่จะมาช่วยตรวจสอบอุณหภูมิของฮาร์ดแวร์ของเราครับ
1. HWmonitor: HWmonitor ถือว่าเป็นโปรแกรมยอดนิยมอันดับหนึ่งที่ใช้ตรวจสอบความร้อนในการทำงานของฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ ครับ เนื่องจากเป็นโปรแกรมที่มีการอัปเดตฐานข้อมูลให้รู้จักกับฮาร์ดแวร์ใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลาทำให้สามารถตรวจสอบอุณหภูมิของอุปกรณ์ในเครื่องของเราได้อย่างละเอียดไม่ว่าจะเป็นซีพียู, การ์ดจอ, SSD/HDD, แรม รวมไปถึงการตรวจสอบแรงดันไฟฟ้าต่าง ๆ ของระบบ โปรแกรมนี้จะช่วยรายงานอุณหภูมิการทำงานในขณะปัจจุบัน แสดงค่าสูงสุด ค่าต่ำสุดได้
ดาวน์โหลด HWmonitor https://www.cpuid.com/softwares/hwmonitor.html
2. HWiNFO: HWiNFO นอกจากจะมีความสามารถในการรายงานอุณหภูมิที่ละเอียดมาก ๆ แล้ว (รายละเอียดสูงกว่า HWmonitor) ยังสามารถใช้ตรวจสอบสเปคและการทำงานของฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ ทั้งระบบได้อีกด้วย แต่ด้วยการที่บอกรายละเอียดที่มากมายนี้เองทำให้หลายคนมองว่าไม่สะดวก เพราะดูยากเข้าใจยากถ้าไม่ใช่คนทำงานสายฮาร์ดแวร์หรือคลุกคลีอยู่กับฮาร์ดแวร์ก็จะบอกว่าเป็นโปรแกรมที่ใช้งานยาก แต่ถ้าคุณต้องการเก็บรายละเอียดจริง ๆ HWiNFO นี่แหละครับตอบโจทย์การใช้งานอย่างมาก
ดาวน์โหลด HWiNFO https://www.hwinfo.com/download/
3. SIV (System Infomation Viewer): ถ้าคิดว่า HWiNFO ดูยากแล้ว โปรแกรมนี้ทั้งดูยากและเชยหนักเข้าไปอีก แต่ก็เป็นโปรแกรมที่น่าสนใจไม่แพ้กันเพราะรายงานข้อมูลของฮาร์ดแวร์ได้ค่อนข้างถูกต้อง มีการอัปเดตข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ ตรวจสอบการทำงานได้ละเอียดเช่นเดียวกับกับ HWiNFO แต่จะดูอยากขึ้นไปอีกระดับ
ดาวน์โหลด SIV (System Information Viewer) http://rh-software.com/
4. SidebarDiagnostics: ถ้าต้องการดูอะไรแบบง่าย ๆ สำเร็จรูปไม่ต้องคิดเยอะก็แนะนำให้ติดตั้งโปรแกรม SidebarDiag ครับ โปรแกรมนี้เมื่อติดตั้งแล้วก็จะแสดงข้อมูลการทำงานต่าง ๆ ของซีพียู การ์ดจอและฮาร์ดแวร์อื่น ๆ อยู่ตรงด้านข้างของจอภาพ ซึ่งเรากำหนดได้ว่าจะให้แสดงอยู่ทางด้านซ้ายหรือด้านขาว และกำหนดได้ว่าจะให้แสดงอยู่ตลอดเวลาหรือจะเปิดปิดตามต้องการก็ได้ แต่ถ้าใครใช้จอกว้างมาก ๆ หรือจอภาพหลายจอก็สามารถเปิดค้างไว้เพื่อติดตามการทำงานได้ตลอดเวลาครับ และสามารถปรับแต่งรูปแบบการแสดงผลได้หลายรูปแบบลองปรับใช้กันตามสะดวกครับ
ดาวน์โหลด SidebarDiagnostics https://github.com/ArcadeRenegade/SidebarDiagnostics/releases
5. CAM (by NZXT): หลายคนที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของ NZXT อยู่ก็คงจะคุ้นเคยกับโปรแกรม CAM และ CAMapp (สำหรับสมาร์ทโฟน) กันเป็นอย่างดีนะครับ ส่วนใครที่ไม่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ของ NZXT ก็สามารถดาวน์โหลดโปรแกรม CAM มาติดตั้งและใช้งานได้เช่นกันครับไม่มีปัญหาอะไร สำหรับการรายงานของโปรแกรม CAM ก็จะมีอินเทอร์เฟซที่สวยงามครับดูง่ายไม่ซับซ้อน และสามารถเชื่อมโยงกับ CAMapp บนมือถือได้อีกด้วยครับ
ดาวน์โหลด CAM (by NZXT) https://www.nzxt.com/camapp
ร้อนแค่ไหนคือไม่ร้อน
ซีพียูแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อจะมีการกำหนดค่าความร้อนในขั้นวิกฤติที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างซีพียูในยุคปัจจุบันเลยก็แล้วกันนะครับ เช่นซีพียู คอร์ เจนฯ 8 เจนฯ 9 ของอินเทลจะมีค่า Max Temp หรือค่าอุณหภูมิที่ทำให้ยุติการทำงานสูงถึงระดับ 100-105 องศาเซลเซียส ดังนั้นเราอย่าแปลกใจที่เห็นซีพียูบนเดสก์ท็อปพุ่งไปถึง 80 องศาเซลเซียส หรือในโน้ตบุ๊กพุ่งไปถึงระดับ 99 องศาเซลเซียสแล้วเครื่องยังทำงานได้โดยไม่แฮงค์เพียงแต่ผู้ใช้จะเกิดความกังวล เนื่องจากเรารับรู้มาว่าที่ 100 องศาเซลเซียสคือน้ำเดือด และเรารู้ว่าน้ำเดือด ๆ เป็นอย่างไรทำให้ภาพเหล่านั้นเข้ามาอยู่ในหัวและทำให้เรากลัวเมื่อเห็นซีพียูหรือการ์ดจอทำงานด้วยอุณหภูมิที่สูง ส่วนซีพียู Ryzen ของค่ายเอเอ็มดีอุณภูหมิที่จะทำให้ยุติการทำงานก็จะอยู่ที่ราว 80-95 องศาเซลเซียส
ส่วนการ์ดจอทั้ง GeForce ของ NVIDIA และ Radeon ของ AMD จากการทดสอบโดยทั่วไปแล้วเราพบว่าทางผู้ผลิตจะเป็นคนกำหนดว่าจะให้การ์ดจอของตนตัดการทำงานที่อุณหภูมิที่เท่าไหร่และโดยเฉลี่ยเราพบว่าอุณหภูมิจะอยู่ที่ประมาณ 80 องศาเซลเซียส แต่ในทางเทคนิคกราฟิกชิปส่วนใหญ่จะรองรับอุณหภูมิได้สูงในระดับ 90-105 องศาเซลเซียส ครับ ดังนั้นเวลาเห็นการ์ดจอทำงานด้วยอุณหภูมิที่สูงในระดับ 70-80 องศา ก็ไม่ต้องตกใจเพราะยังอยู่ในช่วงที่ปลอดภัย
นอกจากเรื่องอุณหภูมิแล้วทั้งซีพียูและกราฟิกก็ยังมีการป้องกันตนเองอีกหนึ่งระดับนั่นก็คืออัตราการใช้พลังงาน เช่นการ์ดจอ GTX 1060 จะมีการใช้กำลังไฟฟ้าไม่เกิน 120 วัตต์ ดังนั้นแม้กราฟิกชิปยังมีอุณหภูมิที่ต่ำไม่ร้อนเกินที่กำหนดแต่ถ้ามีการใช้โหลดเกินกำหนดก็จะมีการลดความเร็วในการทำงานลงมาเพื่อความปลอดภัย ซึ่งซีพียูเองก็จะเป็นแบบนี้เช่นกันครับ
ดังนั้นเรื่องความร้อนนี้จะว่าไปสุดท้ายก็คงจะมีความเห็นที่แตกต่างกัน บางคนเห็นแค่ 60 องศาเซลเซียสก็บอกว่าร้อนแล้ว บางคนไปถึง 70 องศาเซลเซียส ก็ยังเห็นว่าปกติ ดังนั้นเรื่องความร้อนเราคงต้องไปดูด้วยว่าความร้อนในระดับนี้เกิดขึ้นจากการทำงานหรือไม่ ถ้าเครื่องทำงานอยู่แล้วมีอุณหภูมิสูงก็ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเปิดเครื่องขึ้นมาแล้วยังไม่ได้มีการเรียกโปรแกรมใด ๆ ขึ้นมาทำงานแล้วพบว่าซีพียูมีอุณหภูมิสูง ก็ต้องไปตรวจดูว่ามีโปรแกรมอะไรที่ทำงานซ่อนอยู่หรือเปล่า วินโดวส์กำลังอัปเดตอยู่หรือเปล่า ถ้าตรวจสอบแล้วไม่พบโปรแกรมใด ๆ ทำงาน เราก็คงต้องมาตรวจสอบเรื่องอุปกรณ์ระบายความร้อนของเราอีกทีครับว่ามีภาพเป็นอย่างไร เช่นพัดลมระบายความร้อนยังทำงานดีอยู่หรือไม่ มีฝุ่นในเครื่องมากไปหรือเปล่า ซึ่งเรื่องฝุ่นนี่ก็เป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้เกิดความร้อนได้ดีเลยละครับ
ก็หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะมีประโยชน์กับผู้ใช้พีซีและโน้ตบุ๊กพอสมควรนะครับ ในช่วงร้อน ๆ แบบนี้ช่วงปิดเทอมหรือช่วงวันหยุดถ้ามีเวลาก็ลองตรวจสอบและทำความสะอาดเครื่องของเราบ้างก็ดีครับก็จะช่วยลดความร้อนได้อีกทางหนึ่ง ส่วนถ้าใครคิดว่าอุปกรณ์ระบายความร้อนเริ่มเก่าเริ่มเสื่อมสภาพก็สามารถเข้ามาเลือกซื้อหรืออัปเกรดได้ที่ร้าน JIB และ MINE by JIB ครับ หรือจะเข้าไปดูสินค้าที่เกี่ยวกับการระบายความร้อนก็เยี่ยมชมได้ที่ www.jib.co.th ในหมวด Cooling System ครับ
ข้อมูลจาก: ทีมข่าว JIB News